วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การปรับแต่งตำแหน่งของเฟรมโรลเลอร์เบลดเบื้องต้น (how to adjust roller skate frame , basic)

การปรับแต่งตำแหน่งของเฟรมสเก็ต (how to adjust roller skate frame)
สวัสดีครับ ในยามที่น้ำยังท่วมทั่วหน้ากันแบบนี้ ทุกคนก็ยังคงต้องอดทนเดินกันต่อไปครับ ก็คงเหมือนเราสะดุดลงชั่วขณะ เดี๋ยวยืนขึ้นเราก็เดินกันต่อไป แต่สำหรับเราชาวสเก็ต เราไม่แค่ลุกยืน แล้วเดิน แต่เราจะไถไป แซงหน้าคนอื่นเหมือนเดิม ชิ้วววววววววว...........

ก็วกกลับมาเรื่องแวดวง ล้อๆไถๆ ของเรากันต่อครับ สำหรับบทนี้ เราจะมาว่ากันถึงเรื่องการปรับตำแหน่งของเฟรมโรลเลอร์เบลด ก่อนเราจะเข้าเรื่องเทคนิค เราต้องรู้ก่อนว่า เฟรมสเก็ตคืออะไร ทำงานอะไร การปรับตำแหน่งของเฟรมส่งผลอะไรต่อการเล่นสเก็ต

เฟรมสเก็ต (roller skate frame)
ในส่วนที่อยู่ในวงกลมนั้นแหละครับ เค้าเรียกเฟรมสเก็ต(roller skate frame)ครับ มันก็คืออุปกรณ์ที่เอาไว้ยึดล้อสเก็ต เข้ากับตัวสเก็ตนั้นเอง ถ้าไม่มีมัน โรลเลอร์เบลดเราก็ขาขาด ขาดขาทันที ไปไหนต่อไม่ได้แล้ว นั้นคือหน้าที่ที่สำคัญของเฟรมสเก็ตเลยล่ะครับ

เฟรมสเก็ต(roller skate frame)นั้น ก็จะมีอยู่ 2 แบบ ตามวัสดุที่นำมาผลิตครับ

1. เฟรมแบบพลาสติก ( roller skate plastic frame) สำหรับเฟรมแบบนี้ มีข้อดีคือ สเก็ตราคาจะถูกครับ และมีสีสันแปลกๆได้มากมาย แต่ข้อเสียก็นะ ทำให้คิดหนักอยู่ นั้นคือความแข็งแรงต่ำ อายุการใช้งานสั้น เพราะต่อให้ไม่ใส่เล่น กะจะถนอม พลาสติกก็กรอบแล้วแตกตามเวลาครับ ดังนั้น คนตัวใหญ่น้ำหนักตัวเยอะ ไม่แนะนำครับ เพราะถ้าแตกตอนที่กำลังวิ่งอยู่แล้วล่ะก็ เป็นเรื่องแน่นอนครับ

2. เฟรมอลูมิเนียม ( roller skate alu frame) ข้อดีเหรอครับ ก็คือด้านตรงข้ามข้อเสียของเฟรมพลาสติกแหละครับ น้ำหนักเบา แข็งแรง รับน้ำหนักนักสเก็ตได้ดี ทนแรงบิดได้สูง แต่ข้อเสียเหรือครับ ก็ตรงกันข้ามอีกแหละ ราคาจะแพงกว่าครับผม แต่ถ้าเทียบกันแล้ว ผมว่า จ่ายแพงอีกนิดเดียวเอง แต่ทำให้สเก็ตเราแข็งแรงมากๆ นั้นก็คุ้มกันครับ 

แต่เฟรมอลู ก็มีเกรดด้วยนะครับ หลายครั้งเจอโรลเลอร์เบลดที่ติดเฟรมอลูมาก แต่เป็นแบบบางๆ ขันน๊อตไป ก็บีบล้อ จนล้อไม่หมุนเสียอย่างนั้น 


ทำไมสเก็ตต้องสามารถปรับตำแหน่งเฟรมได้ ???

ปกติเรายืนบนพื้น น้ำหนักเราจะถ่ายลงบนพื้น แต่เมื่อเรายืนอยู่บนสเก็ต น้ำหนักเราจะอยู่บนเฟรมครับผม ดังนั้น เฟรมจึงเทียบได้กับพื้นที่เรายืนครับ การปรับตำแหน่งเฟรม นั้นมีประโยชน์ที่ชัดเจนอยู่สองอย่างครับ

1. ทำให้ตำแหน่งการยืน ลงน้ำหนัก เหมาะสม กระชับ ทำให้ควบคุมสเก็ตได้ดีเยี่ยมครับ

2. หากการยืนผิดไป จะทำให้จุดกดของน้ำหนักผู้เล่นสเก็ตผิดไปด้วย ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บ หรือรองเท้าสเก็ตกัดนั้นเอง การปรับตำแหน่งเฟรม จึงเป็นการเปลี่ยนหรือลด แรงกดที่นักสเก็ตจะเจอ ทำให้ใส่สเก็ตได้สบายเท้ามากขึ้น

สำหรับประโยชน์อีกด้านนึง เป็นในเรื่องเทคนิคการเล่นสเก็ตครับ สำหรับคนที่เล่นสเก็ตระดับสูงแล้ว อาจต้องมีการขยับตำแหน่งเฟรม เพื่อให้ขึ้นท่าเทคนิคบางท่าได้ง่ายขึ้นครับ ทั้งท่าหมุนตัว ( spinning)ท่าสเก็ตล้อหน้า (skate toe wheeling) หรือสเก็ตล้อหลัง ( skate heel wheeling)
ท่า skate heel wheeling นี้ถ้าเฟรมมันยื่นไปข้างหลังมากๆ เราจะยืนลงน้ำหนักท่านี้ไม่ได้นะ ขอรับ มันค้ำ
ท่า skate toe wheeling ก็เหมือนกันครับ ล้อและเฟรมยื่นมาก ก็ยืนไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
เมื่อตำแหน่งล้อ เฟรม บูทสเก็ตทุกอย่างลงตัว การเล่นสเก็ตก็จะเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบครับผม

การแต่งรถ ต้องปรับแต่งช่วงล่างฉันท์ใด การเล่นสเก็ตก็ต้องปรับเฟรมฉันท์นั้นครับ มันคือหัวใจเลยทีเดียวครับผม

การปรับตำแหน่งเฟรมสเก็ต ( how to adjust skate frame position)
จุดสังเกต ว่าเมื่อไรที่เราควรจะมีการจูนเฟรมสเก็ต ก็คือ
- สังเกตด้วยตา ว่าตำแหน่งเฟรม ล้อ และตัวสเก็ตมันได้สมดุลย์รึเปล่า
- น๊อตยึดเฟรมกับตัวรองเท้าสเก็ตเริ่มหลวมคลอน
- เล่นแล้วเจ็บเท้าครับ
determine your roller skate frame condition and position
สังเกตจากรูปสเก็ตครับ มันรู้สึกแปลกๆใช้ไหมครับ ดูล้อหน้าของสเก็ตมันลึกไปหน่อยนะ แบบนี้ วิ่งๆไป นักสเก็ตก็หน้าทิ่มได้นะ

1.ถอดล้อสเก็ตทั้งหมดออก ครับ โดยใช้ประแจที่ได้มาตอนซื้อสเก็ต แล้วเก็บชิ้นส่วนทั้งหมดไว้ในกล่อง กันหายครับ
2.พลิกรองเท้าสเก็ต จะเห็นน๊อตยึดเฟรม สองตัว ก็ขันมันออกซะ ตัวเฟรมและรองเท้าสเก็ตจะแยกจากกัน

3.สังเกตรอยน๊อตอันเก่าครับ ก็จะเป็นรอยที่เราไม่ใช่งาน เราจะไปใช้รูอื่นครับ เพื่อขยับตำแหน่งเฟรมให้เลื่อนไปข้างหน้าอีกหน่อยครับ
มองจากด้านบน ก็จะเห็นรายละเอียดชัดขึ้นนะครับ การที่ช่องใส่น๊อต เป็นลักษณะเหมือนแคปซูลยา มีข้อดีอีกอย่างก็คือ สามารถปรับเฟรมให้ไปซ้ายหรือขวาได้อีก ( inside and outside edge) แน่นอนนี่เป็นในส่วนเทคนิคสเก็ตขั้นสูงครับ เดี๋ยวค่อยว่ากัน

4. เมื่อได้ตำแหน่งที่ต้องการ แล้วก็ติดตั้งเฟรมกลับเข้าที่ ค่อยๆขันน๊อตสเก็ตตัวหน้าที หลังที อย่าขันแน่นทีเดียวนะครับ ค่อยๆจูนไป ใจเย็นๆ เมื่อทุกอย่างเข้าที่ ก็ขันน๊อตให้แน่น เราก็จะได้รองเท้าสเก็ตความรู้สึกใหม่ ที่การควบคุมดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดครับ

สังเกต ความรู้สึกหลังการปรับตำแหน่งเฟรมแล้ว ดูสเก็ตเราสมดุลย์มากกว่าในตอนแรกอีกเห็นไหมครับ ล้อสเก็ตหน้าก็พอดี ล้อหลังก็พอดี

หลายคนอาจมองว่า โรลเลอร์เบลดเป็นแค่ของเล่น จริงๆแล้วไม่ใช่ครับ ความเข้าใจคนส่วนใหญ่ยังคงคลาดเคลื่อน มันคืออุปกรณ์ชิ้นนึง ที่เป็นการรวมศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกัน  จากนั้นก็คือหน้าที่ของผู้ใช้ ที่จะเอาสเก็ตไปสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ทั้งกับตัวผู้ใช้ กับทางธุรกิจ หรือระบบอื่นๆ 

ดังนั้น หากเรามองทุกสิ่งบนโลก ด้วยความเข้าใจ เราจะมองเห็นประโยชน์ของสิ่งรอบตัว อย่างที่เราคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แสดงความเห็นกันได้เต็มที่นะครับ